ในการใช้งานอุปกรณ์ชาร์จไฟ หรือแบตสำรองพกพาอย่าง Power Bank โดยทั่วไปแล้วหลายคนทราบกันดีว่าหลักการทำงานของมันก็คือ การรับไฟจากเต้าเสียบไฟบ้าน หรือเต้าเสียบในอาคารทั่วไป จากนั้นก็ส่งต่อไฟที่เก็บบรรจุไว้ในตัวไปให้กับอุปกรณ์สมาร์ทโฟน แท็บเล็ตผ่านสาย Type ต่างๆ โดยมีการแปลงกระแสไฟ กำหนดความถี่ในการส่งออกไปอย่างเหมาะสมตามมาตรฐานการผลิตของแต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่น อย่างไรก็ตามประสบการณ์ใช้งานจริงของหลายคนมักจะได้เจอกับปัญหาต่างๆ ในการใช้งาน Power Bank ที่ตัวเองตัดสินใจซื้อมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเร็วในการชาร์จ ปัญหาความจุแบตเตอรี่ที่ต่ำกว่าที่คาดหวังไว้ ประสิทธิภาพในการกักเก็บแบตเตอรี่ เป็นต้น ซึ่งด้วยเหตุนี้เองทำให้หลายคนมี Power Bank ไว้ใช้งานมากกว่า 1 ตัว และเนื่องด้วยปัจจุบันพอร์ตเชื่อมต่อมาตรฐานอย่าง USB ถูกพัฒนามาถึง USB Type C ที่รองรับการใช้อย่าง ส่ง รับข้อมูล หรือกระแสไฟอย่างอิสระมากขึ้น ทำให้หลายคนที่มีพาวเวอร์แบงค์มากกว่า 1 ตัวขึ้นไปเลือกนำเอาสาย USB-C to USB-C มาประยุกต์ใช้งานในการรับส่งไฟ หรือแบตเตอรี่ระหว่าง Power Bankแต่ละตัว ในบทความนี้จึงจะมาอธิบายให้ได้ทราบกันว่าในแง่ของความปลอดภัยนั้น เราสามารถประยุกต์ใช้พอร์ตดังกล่าวในการรับส่งกระแสไฟระหว่าง Power Bank ด้วยกันเองได้หรือไม่ และมันมีประโยชน์อย่างไรบ้าง
ประโยชน์ของการใช้ Power Bank รับส่งไฟให้กันเอง อย่างที่ทราบกันว่าประโยชน์ของการใช้งานพาวเวอร์แบงค์ก็คือการที่เราใช้สำหรับเป็นอุปกรณ์ชาร์จแบตฯพกพาให้กับสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือแล็ปท็อป ดังนั้นหลายคนอาจสงสัยว่าแล้วเราจะทำการชาร์จไฟระหว่าง Power Bank สองตัวไปทำไม ในเมื่อเราสามารถต่อกับเต้าเสียบในบ้านเพื่อชาร์จไฟได้อยู่แล้ว คำตอบก็คือการชาร์จไฟระหว่างตัวพาวเวอร์แบงค์ด้วยกันเองจะช่วยให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากมันได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวอย่างเช่น บางคนมีพาวเวอร์แบงค์อยู่ 2 ตัว ตัวนึงสามารถชาร์จไฟได้รวดเร็ว กำลังวัตต์สูง แต่ความจุแบตเตอรี่น้อย สามารถชาร์จอุปกรณ์ได้เพียง 1 รอบ ขณะที่อีกตัวมีปริมาณความจุสูง แต่ประสิทธิภาพการชาร์จ หรือส่งต่อไฟต่ำ จึงแก้ปัญหาด้วยการใช้สาย USB-C to USB-C ส่งต่อแบตฯจากตัวที่สองไปยังตัวแรก(หลังจากที่แบตฯตัวแรกถูกชาร์จให้กับอุปกรณ์ไปหมดแล้ว) ซึ่งจะเท่ากับว่าระหว่างวันที่เราไม่สามารถหาเต้าเสียบไฟบ้านได้เราจะสามารถใช้งาน Power Bank ตัวแรกสำหรับชาร์จไฟให้อุปกรณ์ได้สองรอบการชาร์จขึ้นไปแทนที่จะเป็นแค่รอบเดียวตามความจุติดตัว
ความปลอดภัยในการใช้งานและข้อเสีย แม้ว่าโดยวิธีใช้งานพื้นฐานที่ถูกต้องของ Power Bank แต่ละแบรนด์ แต่ละรุ่นส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะรับพลังงานจากเต้าเสียบไฟบ้าน และส่งต่อพลังงานไปให้กับอุปกรณ์ที่ต้องการใช้งานแบตเตอรี่ เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต แต่การส่งต่อพลังงานระหว่าง Power Bank ด้วยกันเองก็ไม่ได้ถือว่าเป็นวิธีใช้งานที่ผิดแปลกจนอาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างมีนัยแต่อย่างใด เพราะการรับส่งพลังงานผ่านสาย USB-C to USB-C ก็ใช้หลักการรับส่งเดียวกับการส่งต่อพลังงานจากพาวเวอร์แบงค์ไปยังอุปกรณ์สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต กล่าวคือ พอร์ต Output ของ Power Bank ตัวนั้นๆ ก็ส่งกระแสไฟออกมาได้ในปริมาณเท่าเดิมนั่นเอง แต่ทั้งนั้นทั้งนี้การรับส่งพลังงานระหว่างพาวเวอร์แบงค์ก็มีข้อเสียอยู่บ้างเหมือนกัน เช่น ปริมาณพลังงาน หรือแบตเตอรี่ที่ส่งต่อได้นั้นจะไม่เต็มจำนวน เพราะมีการกระจายตัวของกระแสไฟไปตามรอบการส่งต่อ หรือกล่าวสรุปง่ายๆก็คือ การชาร์จไฟให้พาวเวอร์แบงค์จากตัวที่หนึ่งไปยังตัวที่สอง ก่อนที่ตัวที่สองจะนำไปชาร์จต่อให้กับอุปกรณ์ ย่อมเท่ากับมีการส่งไฟสองต่อก่อนถึงปลายทาง ปริมาณไฟที่ใช้งานได้จริงจึงลดน้อยลงกว่าการชาร์จโดยตรงให้กับอุปกรณ์เพียงต่อเดียวนั่นเอง และการเลือกใช้พาวเวอร์แบงค์ ต้องเลือกพาวเวอร์แบงค์ที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัย เป็น Premium Power Bank มาจากแบรนด์ที่เชื่อถือได้ รวมไปถึงการเลือกใช้สายชาร์จ USB ก็ต้องเลือกสายที่ได้มาตรฐานส่งไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Related posts
Leave Comment